ปัญหาสำหรับการขับขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้านั้น เป็นปัญหาเรื้อรังมานานมากพอสมควร จนทำให้ประชาชนผู้ที่พบเห็นอาจจะไม่พอใจกันไปตามๆ กัน จนบางคนในโลกออนไลน์ ก็ได้ออกมาพูดกล่าวในกรณีกันมากพอสมควร
แต่รู้ไหมประชาชนผู้ที่พบเห็น ถ้าไปแจ้งแก่เจ้าหน้าที่พนักงานจราจร หรือตำรวจ จะได้ “ส่วนแบ่งค่าปรับครึ่งหนึ่ง” ถ้าใครไม่เชื่อว่าเรื่องนี้มีจริงไหมลองไปชมคลิปรายการ “ฎีกาชาวบ้าน” ซึ่งออกอากาศทาง www.matichon.co.th โดยมี นายโอภาส เพ็งเจริญ คอลัมนิสต์สัพเพเหระคดี หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน และนางสาวเสาวลักษณ์ สวัสดิ์กว้าน เป็นผู้ดำเนินรายการ
โดยกฎหมายที่มีโทษปรับ นั่นคือพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่บัญญัติว่า
มาตรา ๑๗ ห้ามมิให้ผู้ใด
(๒) จอด หรือ ขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือล้อเลื่อน บนทางเท้า เว้นแต่เป็นการจอดหรือขับขี่เพื่อเข้าไปในอาคารหรือมีประกาศของเจ้าพนักงานจราจรผ่อนผันให้จอดหรือขับขี่ได้
และมีบทกำหนดโทษอยู่ในมาตรา ๕๖ ที่ว่า ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
ทั้งนี้ ยังกำหนดให้ประชาชนผู้พบเห็นแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้พนักงานสอบสวน เจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ หากไม่ดำเนินการ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิด(มาตรา ๕๙)
นอกจากนี้ ค่าปรับที่ได้จากการเปรียบเทียบ ให้แบ่งแก่ผู้แจ้งครึ่งหนึ่ง และพนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานจราจร หรือตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการจราจร ผู้จับกุมอีกครึ่งหนึ่ง(มาตรา ๔๘ วรรคสาม)
หมายเหตุ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
เจ้าพนักงานท้องถิ่น หมายความว่า
(๑) นายกเทศมนตรี สำหรับในเขตเทศบาล
(๒) ประธานกรรมการสุขาภิบาล สำหรับในเขตสุขาภิบาล
(๓) ผู้ว่าราชการจังหวัด สำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด
(๔) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร
(๕) ปลัดเมืองพัทยา สำหรับในเขตเมืองพัทยา
(๖) หัวหน้าผู้บริหารท้องถิ่นขององค์การปกครองท้องถิ่นอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นราชการส่วนท้องถิ่น สำหรับในเขตราชการส่วนท้องถิ่นนั้น
พนักงานเจ้าหน้าที่ หมายความว่า
(๑) ปลัดเทศบาล และรองปลัดเทศบาล สำหรับในเขตเทศบาล
(๒) ปลัดสุขาภิบาล สำหรับในเขตสุขาภิบาล
(๓) ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด และนายอำเภอ สำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด
(๔) ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขต และผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตสำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร
(๕) รองปลัดเมืองพัทยา สำหรับในเขตเมืองพัทยา
(๖) ผู้ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นแต่งตั้งให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา ๕๑ ในกรณีที่มีผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ประชาชนผู้พบเห็นอาจแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน เจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้พนักงานสอบสวน เจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยไม่ชักช้า และให้ถือว่าประชาชนผู้พบเห็นการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา ๕๖ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๒ มาตรา ๑๖ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๗ หรือมาตรา ๑๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
มาตรา ๕๙ พนักงานสอบสวน เจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๑ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามที่มีการแจ้งความนั้น
มาตรา ๔๘ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือผู้ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นแต่งตั้ง และพนักงานสอบสวนมีอำนาจเปรียบเทียบได้ เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบภายในสิบห้าวันแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบหรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ดำเนินคดีเพื่อฟ้องร้องต่อไป
ค่าปรับที่ได้จากการเปรียบเทียบตามวรรคหนึ่ง ให้แบ่งแก่ผู้แจ้งตามมาตรา ๕๑ กึ่งหนึ่ง และพนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานจราจร หรือตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการจราจร ผู้จับกุมอีกกึ่งหนึ่ง
หมายเหตุ : รายการฎีกาชาวบ้าน เป็นรายการกฎหมายใกล้ตัว ออกอากาศทาง www.matichon.co.th โดยมี นายโอภาส เพ็งเจริญ คอลัมนิสต์สัพเพเหระคดี หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน และนางสาวเสาวลักษณ์ สวัสดิ์กว้าน เป็นผู้ดำเนินรายการ
แหล่งที่มา : matichon